ความสำคัญของอาหารเช้าต่อสุขภาพ

อาหารเช้านั้น สำคัญไฉน

– โรคอ้วน เบาหวาน และโรคหัวใจ
จากการประชุมประจำปีของสมาคมแพทย์โรคหัวใจ (American Heart Association) มีการเสนอผลวิจัยชื่อว่า Cardia Study ที่พบว่า อัตราการเกิดโรคที่เรียกว่าภาวะดื้อต่ออินซูลิน ที่ทำให้อ้วนและเป็นโรคเบาหวาน มีอัตราลดลงในผู้ที่กินอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอถึง 35-50% เทียบกับผู้ที่ไม่กิน คณะนักวิจัยเชื่อว่า อาหารเช้าเป็นอาหารมื้อที่สำคัญที่สุดในการป้องกันเบาหวานและโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ โดยคนที่ไม่กินอาหารเช้า สมองจะหลั่งสารนิวโรเปปไทด์ วาย (Neuropeptide Y) ซึ่งจะทำให้เรากินอาหารมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้กินจุบกินจิบทั้งวัน และกินอาหารในมื้ออื่นมากขึ้นกว่าปกติทำให้มีโอกาสอ้วนขึ้นได้ไม่ยาก

– อัลไซเมอร์
คือโรคหลงๆ ลืมๆ ที่หลายคนกลัว และคิดว่าคนแก่เท่านั้นที่เป็น แต่ถ้าเราไม่ได้กินอาหารเช้าจะทำให้สมองขาดสารอาหาร ส่งผลให้เรามีโอกาสเป็นโรคหลงๆ ลืมๆ ตั้งแต่อายุยังไม่มาก และมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ได้มากขึ้น

– ร่างกายทรุดโทรม
เมื่อร่างกายไม่ได้พลังงานจากอาหารเช้า ร่างกายก็จะดึงสารอาหารจากอวัยวะส่วนอื่นออกมา ซึ่งภายใต้กระบวนการนี้จะเกิดกรดชนิดหนึ่งออกมาด้วย และเมื่อร่างกายต้องผลิตกรดออกมาบ่อยๆ พออายุมากขึ้น เราก็จะเป็นโรคตามมาหลายอย่าง เช่น มะเร็ง หัวใจ

– หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย อ่อนเพลีย
เมื่อตื่นนอนในตอนเช้าระดับน้ำตาลในเลือดเราจะต่ำ หากเรายังไม่กินอาหารเช้า ร่างกายจะไปดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่สะสมไว้ที่ตับเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติ แต่เมื่อไหร่ที่พลังงานส่วนนี้ถูกใช้จนหมดไป ในตอนเช้าระดับน้ำตาลในเลือดก็จะต่ำอยู่อย่างนั้น ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดอารมณ์เสียง่ายและอ่อนเพลีย ส่วนคนที่กินอาหารเช้าจะมีพลังงานในการทำงานได้นานกว่า และมีความอ่อนล้าในช่วงกลางวันน้อยกว่าคนที่ไม่กินอาหารเช้า

– สมองทำงานไม่ดีเท่าที่ควร
มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ระบุว่า การกินอาหารเช้ามีผลต่อการเรียนของนักเรียน เพราะถ้าสมองได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ สมองก็จะไม่รับรู้เรื่องที่ครูสอน หรือไม่มีสมาธิในการเรียน บางคนไปสอบโดยไม่กินอาหารเช้าก็จะทำข้อสอบได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเด็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต หากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้มีไอคิวต่ำและร่างกายไม่แข็งแรงได้